5 มหาสถานบูชาศักดิ์สิทธิที่สุดของพม่า
เมืองม่าน หรือพม่าในปัจจุบัน ประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ อาทิ พม่า มอญหรือรามัญ ไทยใหญ่ ฯลฯ พม่าได้ชื่อว่าเป็นชาติที่นับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทเช่นเดียวกับไทยเรามาแต่อดีตกาล มีการสร้างเจดีย์พระธาตุ ศาสนสถาน ทั่วทั้งประเทศ ดังนั้นจึงมีปูชนียสถานอันเป็นที่สักการบูชาของชาวพม่า และชาวมอญอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่นับถือเป็นมหาบูชาสถานสำคัญสูงสุดมี 5 แห่ง ที่เป็นเบญจมหาสถานบูชาอันเป็นความปรารถนาของชาวพุทธพม่าและชาวพุทธเถรวาทว่า.....ครั้งหนึ่งในชีวิตจักต้องหาโอกาสเดินทางไปสักการะมหาสถานบูชาให้ครบทั้ง 5 แห่ง ที่เชื่อว่าด้วยผลานิสงส์จักส่งให้ได้พบกับความเป็นสิริมงคลในภพนี้ชาตินี้และได้สู่สวรรค์ในภพหน้า
มหาสถานบูชาศักดิ์สิทธิที่สุดของพม่าที่โยงใย “เส้นทางแห่งศรัทธา”ทั้ง 5 แห่งได้แก่
มหาสถานบูชาลำดับที่ 1 พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ตั้งอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ก่อสร้างเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว กษัตริย์มอญคือ พระเจ้าโอกะลาปะ ซึ่งเลื่อมใสในพุทธศาสนาโปรดฯให้ก่อสร้างขึ้นมา มีความสูง 326 ฟุต เส้นรอบวง 1,420 ฟุต องค์เจดีย์ประดับด้วยแผ่นทองคำ 4 หมื่นแผ่น รวมน้ำหนักทองถึง 8 ตัน ( 8,000 กิโลกรัม) สำหรับฉัตรซึ่งครอบยอดเจดีย์ สูง 33 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 ฟุต ประดับเพชรพลอยรวม 4,351 เม็ด รวม น้ำหนัก 2,000 กะรัต เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดบนยอดฉัตรมีฐานกว้าง 2 ฟุต ยาว 1 ฟุต 10 นิ้ว และหนัก 76 กะรัต
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ รวม 8 พระองค์ของพระพุทธเจ้า ตามประวัติกล่าวว่าครั้งย่างกุ้งยังเป็นดินแดนของมอญมีชื่อเดิมว่า “ดากอง” หรือ “ตะเกิง” กาลต่อมาพม่าเข้าครอบครองแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ย่างกุ้ง”
“ชเวดากอง” แปลว่า “เจดีย์ทองแห่งเมืองดากอง” พระมหาเจดีย์ชเวดากองมีการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง โดยเฉพาะมีโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ของมอญและพม่าที่จะขึ้นครองราชย์บัลลังก์ จะต้องถวายทองคำหนักเท่ากับน้ำหนักของพระองค์เพื่อนำมาห่อหุ้มองค์พระเจดีย์ ซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวพุทธที่สำคัญที่สุดมาถึงปัจจุบัน
มหาสถานบูชาลำดับที่ 2 พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย ( ภาษามอญหมายถึง หินรูปหัวฤๅษี) ตั้งอยู่ที่เมืองไจ้ก์โถ่ เขตรัฐมอญ ประเทศพม่า พระธาตุอินทร์แขวน ประดิษฐานอยู่บนหน้าผาสูงกว่า 1,200 เมตร ก้อนหินสุดแสนมหัศจรรย์และศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้สูง 5.5 เมตร เส้นรอบวงของก้อนหินประมาณ 17 เมตร เชื่อกันว่าพระธาตุอินแขวนนี้ลอยอยู่เหนือพื้นดิน กล่าวกันว่าหากใช้เชือกดึงคนละด้านตอนล่างสุดจะสามารถลอดผ่านใต้ก้อนหินได้
ตามตำนานโบราณระบุว่าพระอินทร์เสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ เพื่อนำเอาพระธาตุมาแขวนไว้ให้ผู้ที่มีบุญมากราบไหว้ ใครได้มาสักการะจักได้อานิสงส์เท่ากับได้มาไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ และจะได้สั่งสมบุญให้ไปเกิดร่วมยุคพระศรีอารยเมตไตรย และเชื่อกันว่าผู้ที่มีบุญจะสามารถมองเห็นองค์พระธาตุอินทร์แขวนลอยอยู่อย่างชัดเจน
มหาสถานบูชาลำดับที่ 3 พระมหาเจดีย์ชเวซิกอง ตั้งอยู่ในเมืองพุกาม คำว่า “ชเวซิกอง” มีความหมายว่าเจดีย์ทองแห่งชัยชนะ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ องค์พระมหาเจดีย์เป็นสีทองรูประฆังทรงคว่ำ ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระเขี้ยวแก้วที่อัญเชิญมาจากศรีลังกา
พระเจ้าอโนรธามังช่อได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าหากช้างที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระเขี้ยวแก้วคุกเข่าลงที่ใดจะสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในสมัยพระเจ้าจานสิตาแห่งอาณาจักพุกามเมื่อ 960 ปีก่อน
พื้นผิวภายนอกพระมหาเจดีย์ชเวซิกองปิดด้วยทองคำเปลว ปัจจุบันมีความสูง 53 เมตร มีลวดลายปูนปั้นอยู่ 3 แถว และมีเจดีย์เล็กล้อมเป็นบริวารอยู่รายรอบ
พระมหาเจดีย์ชเวสิกอง มีเอกลักษณ์หรือความอัศจรรย์ 9 ประการ ได้แก่
1.การก่อสร้างยอดพระเจดีย์ไม่มีการใช้เหล็กเสริม แต่ยังคงความแข็งแรง
2.กระดาษห่อแผ่นทองคำเปลวที่นำไปปิดส่วนยอดพระมหาเจดีย์ชเวสิกอง จะไม่ปลิวพ้นฐานสี่เหลี่ยมของพระมหาเจดีย์ ( อันแสดงว่าพระมหาเจดีย์มีความใหญ่มาก )
3 เงาพระมหาเจดีย์ชเวสิกอง จะไม่ล้ำออกนอกฐานสี่เหลี่ยมของพระมหาเจดีย์ (ถ้าเงาล้ำออกไป โบราณถือว่าเป็นลางร้าย)
4. ภายในเขตองค์พระมหาเจดีย์ชเวสิกอง สามารถรองรับผู้แสวงบุญได้ไม่จำกัดจำนวน (มามากเท่าไรเมื่อไรก็ไม่เคยเต็ม)
5.มีการถวายข้าวสุกร้อน ๆ ทุกเช้า (ไม่ว่าจะมาเช้าสักเพียงใด จะพบข้าวสุกในบาตรอยู่ก่อนหน้าแล้วเสมอ)
6.เมื่อตีกลองใหญ่จากด้านหนึ่งของพระเจดีย์ จะไม่สามารถได้ยินเสียงกลองจากด้านตรงข้าม
7. แม้พระมหาเจดีย์ชเวสิกอง จะตั้งอยู่บนพื้นราบแต่เมื่อมองจากด้านนอกจะเกิดภาพลวงตาคล้ายพระมหาเจดีย์ตั้งอยู่บนที่สูง
8.ไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใด จะไม่มีน้ำฝนขังอยู่ในอาณาเขตขององค์พระมหาเจดีย์ชเวสิกอง
9.ลานพระมหาเจดีย์ชเวสิกอง มีต้นพิกุลซึ่งจะออกดอกตลอดทั้งปี (ปกติต้นพิกุลทั่วไปจะออกดอกปีละครั้ง )
มหาสถานบูชาลำดับที่ 4 เจดีย์ชเวมอดอร์ หรือ พระธาตุมุเตา ตั้งอยู่ที่เมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุรวม 2 พระองค์ มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี เป็นพระธาตุเจดีย์ที่สูงที่สุดของพม่า ด้วยความสูงถึง 375 ฟุต ( เมื่อเทียบกับมหาเจดีย์ชเวดากองที่สูง 326 ฟุต )
ที่เรียกเจดีย์ชเวมอดอร์ว่า “พระธาตุมุเตา” แปลว่าจมูกร้อน เนื่องจากพระธาตุองค์นี้สูงมากจนต้องแหงนหน้ามองต้องกับแสงแดด เนื่องจากพระธาตุชเวมอดอร์มีความสูงมาก
เจดีย์ชเวมอดอร์มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของพม่าและไทย โดยพระเจ้าบุเรงนอง ( ผู้ชนะสิบทิศ)ได้ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างฉัตรถวายเพิ่มเติมอีกหลายชั้นจนพระธาตุสูงขึ้นอีกหลายเท่า และทรงถอดมณีที่ประดับยอดมงกุฎของพระองค์ถวายเป็นพุทธบูชา และก่อนที่พระองค์จะออกทำศึกคราใดจะเสด็จมานมัสการพระธาตุนี้ก่อนทุกครั้ง ( ปัจจุบันจุดที่เชื่อว่าพระองค์ทำการสักการะยังปรากฏอยู่ )
อนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งยกทัพมาตีเมืองพะโคก็ได้เสด็จนมัสการเจดีย์ชเวมอดอร์หรือพระธาตุมุเตาแห่งนี้ด้วย
มหาสถานบูชาลำดับที่ 5 พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ปางมารวิชัย ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เมืองธัญญวดี รัฐยะไข่ ด้านตะวันตกของพม่า กษัตริย์ที่โปรดให้สร้างคือ พระเจ้าจันทสุริยะ เมื่อปี พ.ศ.689 องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์ สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว หนัก 6.5 ตัน ตามประวัติกล่าวว่าก่อนสร้างพระเจ้าจันทสุริยะผู้สร้างทรงพระสุบินว่า พระพุทธองค์เสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อสืบพระพุทธศาสนาต่อไปในภายหน้า
ในอดีตแม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยเมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพเพียงไร ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีออกจากเมืองยะไข่ได้ เนื่องจากมีเหตุให้ขัดข้องทุกครั้งไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2327 รัชสมัยพระเจ้าปดุงทรงมีชัยเหนือเมืองยะไข่ สามารถอัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่ได้ โดยล่องมาตามแม่น้ำอิระวดีจนถึงยังเมืองมัณฑเลย์สำเร็จ พระมหามัยมุนีจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าพระพุทธเจ้าทรงประทานลมหายใจให้กับพระมหามุนีเพื่อเป็นตัวแทนสืบทอดพระศาสนา จึงเชื่อกันว่าพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้มีลมหายใจ จึงมีพิธีล้างพระพักตร์ถวายให้ทุกเช้า ซึ่งพิธีก็ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ชาวพม่าให้ความสำคัญของพระมหามัยมุนีว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญสูงสุดเช่นเดียวกับที่ชาวไทยนับถือ “พระแก้วมรกต” ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญสูงสุดเช่นกัน
มหาสถานบูชาศักดิ์สิทธิ ทั้ง 5 แห่งนี้ (เป็นพระมหาเจดีย์ 4 องค์ และพระพุทธรูป 1 องค์) ล้วนทรงความศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธพม่าและชาวพุทธเถรวาทนานาชาติที่มีพระบรมศาสดาองค์เดียวกันคือ
"พระโคตมพุทธเจ้า"
--------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ ท่านที่สนใจสารคดีซีรีย์พิเศษ “เส้นทางแห่งศรัทธา” สามารถติดตามได้ในนิตยสารพระเครื่องพุทธคุณ และดูย้อนหลังได้ทางอินเตอร์เน็ตที่ http://aseanline.blogspot.com และ www.suriyanchantra.net ( หมวด บทความ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น