วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เขาโปปา:  มหาคีรีนัต แห่งพุกาม
สารคดีซีรีย์พิเศษ เส้นทางแห่งศรัทธา   ตอนที่ 5  โดย สุริยัน จันทรา



 
      เมื่อมีโอกาสไปเยือนพุกาม พม่า แผ่นดินที่มีทะเลเจดีย์สุดลูกหูลูกตา  นักแสวงบุญจะเอิบอิ่มในผลานิสงศ์จากการได้บูชาสักการะพระเจดีย์น้อยใหญ่และพระพุทธปฏิมา   เอิบอิ่มทิพย์กับพุทธศิลป์อันงดงามตามแบบเถรวาทแห่งอาณาจักรพุกามทดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่ง
     ศรัทธาประสาทะทอันทอดผ่านกาลเวลาที่ปรากฏจากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นหลักฐานที่โลกต้องคารวะใน “พลังศรัทธาแห่งพุทธศาสนิกชน”ที่รังสรรค์พุทธสถานอันงดงาม ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์

     นักท่องเที่ยว นักถ่ายภาพส่วนมากจะตื่นตาตื่นใจในทิวทัศน์แบบพาโนรามา 360 องศาของเมืองพุกามเก่าที่มองไปทางใหนก็มีแต่วิหารเจดีย์ สลับกับแมกไม้จนสุดปลายขอบฟ้า  ยิ่งในยามเย็น นักล่าภาพจะปีนป่ายขึ้นบนวิหารเจดีย์ที่สูงบันทึกภาพยามพระอาทิตย์อัสดงที่นักถ่ายภาพนักเขียนสารคดีระดับมืออาชีพยังยอมรับว่าทั้งโลกมีที่นี่ที่เดียวที่ไม่ต้องใช้การแสดงแสงสีเสียงช่วย แต่กลับดูอลังการงามล้ำเกินพรรณา
เส้นทางแห่งศรัทธา ณ อาณาจักรพุกามยังมีอีกสถานที่แห่งหนึ่งที่ถือเป็น “ศูนย์กลางแห่งจักรวาล”  นั่นคือ
     เขาโปปา(Mount Popa)  มหาบรรพตศักดิ์สิทธิ์

     โปปามีความสูงประมาณ  4981 ฟุต   อยู่ห่างจากเมืองพุกามไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 50 กิโลเมตร ภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว  ลาวาภูเขาไฟสร้างตัวเองใหญ่สูงตระหง่านโดดเด่น
คำว่าโปปามาจากรากศัพท์สันสกฤตแปลว่าดอกจำปา   คงเนื่องจากในอดีตบริเวณภูเขาลูกนี้มีต้นจำปาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงมีอีกชื่อว่า “ภูเขาดอกจำปา”


เขาโปปาได้รับการกล่าวถึงในบันทึกประวัติศาสตร์พม่าตั้งแต่ในยุคของการเลือกตำแหน่งสร้างอาณาจักรพุกาม  กล่าวว่าอดีตภูเขาไฟแห่งนี้เปรียบเสมือน” เขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาล”  โบราณาจารย์ก็เชื่อว่าเขาโปปาแห่งนี้....สามารถเชื่อมกับอีกมิติได้ และเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเหล่า “นัต” หรือที่คนพม่าเรียกว่า “มินนัต”

     นัต (พม่า ออกเสียง น่ะต์ ) มาจากคำว่า นาถะ ในภาษาบาลี ที่แปลว่า "ที่พึ่ง"  หมายถึงผีของชาวพม่า เป็นความเชื่อพื้นเมืองที่มีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาในพม่า นัตเป็นผีบรรพบุรุษ ลักษณะกึ่งผีกึ่งเทวดา คล้ายเทพารักษ์ คอยดูแลคุ้มครองสถานที่ที่ตนเมื่อครั้งยังมีชีวิตมีความสัมพันธ์อยู่ โดยอาจจะมีศาลลักษณะคล้ายศาลเพียงตาตั้งบูชาอยู่ในสถานที่นั้น ๆ
     เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม นำศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเข้าสู่พม่า ในพุทธศตวรรษที่ 18 ความเชื่อเรื่องนัตจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ นัตถูกยกระดับให้เป็นนัตหลวง โดยพระองค์ได้ทำการตั้งศาลนัตหลวงขึ้นที่เขาโปปา หรือเรียกว่า มหาคีรีนัต ชานเมืองพุกาม มีทั้งหมด 37 ตน โดยองค์สำคัญคือ นัตตัจจาเมง (หรือ นัตสักรา หรือ พระอินทร์), นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, นัตโยนบะเยง (นัตพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์) เป็นต้นโดยบุคคลที่จะได้รับการรับถือเป็นนัตนั้น ต้องมาจากสาเหตุการตายที่ไม่ใช่การตายธรรมดา เพราะเชื่อว่าจะมีฤทธานุภาพสูงกว่าผีทั่ว ๆ ไป
  ตามความเชื่อของพม่าแต่โบราณ เชื่อว่า นัต  สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ ( Supernatural) จึงเป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้าน   ต่อมามีการตั้งศาลและนำรูปปั้นเหมือนจริงตั้งไว้ให้คนกราบไหว้บูชา โดยถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องดูแลบ้านเมือง และยังสามารถขอในสิ่งที่ต้องการได้อีกด้วย
     รูปปั้นนัตแต่ละตนนั้นจะสวมเสื้อผ้าอาภรณ์สวยงาม บางตนนั่งอยู่บนสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ หงส์ และม้า บางตนก็ถืออาวุธแตกต่างกันไปตามเรื่องราว
     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า กล่าวว่ามีผีนัตถึง 39 ตน เรียกว่า นัตมิน (กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า แน็ตมิน) หรือ ผีหลวง และมีตำราว่าด้วยเรื่องผี ชื่อว่ามหาคีตะเมคะนี (Maha Gita Megani) ซึ่งอยู่ในคัมภีร์โลกาพยุหะ อันเป็นตำราประเพณีของพม่า ซึ่งเซอร์ยอช สก็อต เป็นผู้เรียบเรียงหนังสือภิธานเมืองพม่าเหนือ หรือ Upper Burma Gasetteer มีรายชื่อเมืองและประวัติของผีหลวงทั้ง 39 ตน บอกถึงธรรมเนียมลงลงผีซึ่งส่วนใหญ่คนทรงจะเป็นผู้หญิง และผีนัติแต่ละตนจะมีการขับร้อง การฟ้อนรำ เครื่องดนตรี และเพลงเฉพาะตน
     บนยอดเขาโปปายังเป็นที่ตั้งของ "วัดตุง คาลัท" (Taung Kalat Temple)
วัดพุทธที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองพุกาม เป็นหนึ่งในวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา สำหรับการขึ้นไปยังวัดที่อยู่บนยอดเขาจะต้องเดินเท้าขึ้นไปตามทางเดินขั้นบันได 777 ขั้น
         นอกจากนี้เขาโปปายังเคยเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่บรมครู พ่อครู บูรพาจารย์ นักพรตผู้เรืองเวทวิทยาคม มาศึกษาเล่าเรียน บำเพ็ญพรต หนึ่งในบรรดาบรมครูที่รู้จักกันดีของชาวพม่าและผู้ศรัทธาในเวทวิทยาคมของท่านคือ “พ่อครูโพมินข่อง” ( Boe Min Khaung) ที่เคยพำนักอยู่ที่เขาโปปาซึ่งสถานที่ห้องพำนักของท่านยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ตราบปัจจุบัน
         เมื่อปลายปี พ.ศ.2556 ครั้งที่ผู้เขียนเดินทางร่วมไปกับคณะหลวงปู่บุญ วัดทุ่งเหียง ครูบาชัยมงคล วัดไทรย้อย พระอาจารย์ภูไทย วัดเขาแก้วชัยมงคล และพระอาจารย์ฉลอง วัดยางเอน สุโขทัย  ไปประกอบพิธีมังคลาภิเษกที่เขาโปปาก็ได้รับเมตตาให้ใช้ห้องที่เคยเป็นที่พำนักของพ่อครูโพมินข่อง  เป็นสถานที่มังคลาภิเษกวัตถุมงคลที่หอบหิ้วข้ามน้ำข้ามทะเลขึ้นไปบนยอดเขาโปปาเพื่อปลุกเสก
      บรรยากาศตอนไปปลุกเสกก็ไม่ธรรมดา  ครูบาชัยมงคลท่านเคยไปเรียนวิชาอาคมที่พม่าและสิบสองปันนา เคยเดินทางไปเขาโปปากับครูบาอาจารย์สายพม่า  

     เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาโปปาครูบาฯท่านได้อธิษฐานขอสถานที่เพื่อปลุกเสกวัตถุมงคลก็ได้เฉพาะเจาะจงสถานที่สำคัญคือ...ห้องพำนักของพ่อครูโพมินข่อง ที่มีพระพุทธรูป  ภาพถ่าย รูปเหมือนและข้าวของเครื่องใช้เช่นเตียงนอนของพ่อครู ฯ

      เมื่อเริ่มปลุกเสกครูบาชัยมงคลร่ายพระเวทเป็น”ภาษามอญโบราณ” บูชาพระรัตนตรัยสิ่งศักด์สิทธิ์ อัญเชิญบรมครู พ่อครูมาร่วมประสิทธิ  เสียงสาธยายมนต์ดังกังวาล  บรรดาชาวพม่าชาวมอญที่ขึ้นไปบนยอดเขาได้ยินพระเวทต่างพากันมาล้อมมุงดูด้วยความสนใจ

     หลวงปู่บุญ โสภโณ เข้าสมาธิเจริญภาวนาพระคาถาปลุกเสกตะกรุดเสน่ห์มอญ  พระอาจารย์ภูไทยเคี้ยวหมากตามสูตรโบราณาจารย์บริกรรมคาถาสายยาแดง ปลุกเสกผ้ายันต์สุ่ยหยิ่นจ่ออยู่ที่ข้างเตียงพ่อครูโพมินข่อง พระอาจารย์ฉลอง นั่งข้างครูบาชัยมงคลปลุกเสกผ้ายันต์ “เทพทันใจ วัดยางเอน”

     คณะบุญจาริกที่รายล้อม ณ มณฑลพิธีประหนึ่งอยู่ในภวังค์แห่งมิติลี้ลับที่เข้มขลัง เรืองรองด้วยพลานุภาพแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเสร็จพิธีชาวพม่าชาวมอญที่มุงดูอยู่ต่างกรูกันเข้ามาให้พระคณาจารย์จากโยเดีย (พม่าเรียกไทยว่าโยเดีย)ลงอักขระให้เพื่อความเป็นสิริมงคลอันเป็นภาพที่ไม่อาจพบเห็นบ่อยนักที่จักบังเกิดในขุนเขาโปปาที่ได้การขนามนามว่า......
                                          เขาพระสุเมรุ  ศูนย์กลางแห่งจักรวาล


หมายเหตุ  ลงพิมพ์ในหนังสือพระเครื่องพุทธคณ ฉบับ พฤษภาคม 2557
                 วัตถุมงคลที่นำไปปลุกเสก ดูรายละเอียดได้ที่ www.pooboon.con   www.krooba.com   www.poothai.net   www.สุริยันจันทรา.com สอบถาม โทร 083-073-7515