เส้นทางแห่งศรัทธา
ตอน พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า
พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า
เปรียบได้กับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า
คำว่า มหามัยมุนี แปลว่า " ผู้รู้อันประเสริฐ
" ชาวพม่าจะเรียกว่า มหาเมียะมุนี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อดีตราชธานีของพม่าในยุคราชวงศ์คองบอง
เดิมทีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่ มีตำนานเล่าว่า
สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์
สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว หนัก 6.5 ตัน ก่อนสร้าง กษัตริย์ผู้สร้างทรงพระสุบินว่า
พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้ เป็นตัวแทนของพระองค์
เพื่อเป็นเครื่องสืบพระศาสนาไปในภายหน้า โดยในอดีต
แม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์เมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพอย่างไร
ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีนี้ออกจากเมืองได้
ต้องมีเหตุให้ขัดข้องทุกครั้งไป
ตำนานการสร้างพระมหามัยมุนี กล่าวไว้ว่า..ในสมัยพระพุทธกาลที่เมืองยะไข่ ( หรืออาระคัน
) มีพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่า
พระเจ้าจันทรสุริยา
ได้ยินเรื่องราวของพระพุทธเจ้าออกเทศนาโปรดผู้คนในประเทศอินเดีย
พระองค์ประสงค์อยากกราบไหว้และได้ฟังเทศนาจากพระพุทธเจ้าบ้าง
จึงได้อธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาทางเมืองยะไข่
พระพุทธเจ้าได้ทราบถึงความปรารถนาของพระเจ้าจันทรสุริยา
จึงได้เสด็จมาพร้อมสาวกอีก 500 รูป
พระเจ้าจันทรสุริยาได้จัดที่ในวังถวายให้พระพุทธเจ้าประทับ เมื่อครบ ๗ วัน
ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ
พระเจ้าจันทรสุริยาได้ขออนุญาตหล่อรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าไว้กราบไหว้บูชา
จึงให้ช่างหล่อให้เสร็จในวันเดียว
ปรากฏว่าส่วนอื่นของพระพุทธรูปหล่อเสร็จสมบูรณ์หมด ยกเว้นที่พระนลาฏ
หล่ออย่างไรก็ไม่ติด พระพุทธเจ้าเสด็จมาทอดพระเนตร
จึงถูไคลจากพระอุระปั้นเป็นก้อนปิดลงไปที่พระนลาฏ จึงหล่อได้สำเร็จ
...แต่มีอีกตำนานเล่าว่า..พระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจใส่ลงไปในพระพุทธรูปองค์นี้
จึงหล่อได้สำเร็จและหายใจได้ ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้ลุกขึ้นมาไหว้พระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตรัสให้นั่งลงและให้เป็นพระพุทธรูปให้คนยะไข่กราบไหว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบองสามารถตียะไข่ได้ จากนั้นได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่ได้
ในปี พ.ศ. 2327 โดยล่องมาตามแม่น้ำอิระวดีมายังเมืองมัณฑเลย์ได้สำเร็จ
พระมหามัยมุนีจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ด้วยความเชื่อความศรัทธาว่า
พระพุทธมหามัยมุนี นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิตมีลมหายใจ จึงมีประเพณีล้างพระพักตร์ถวาย
ทุกๆ เช้าตั้งแต่เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป
จะมีการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี โดยพระเจ้าอาวาสแห่งวัดมหามัยมุนีเป็นผู้ทำพิธีและเจ้าหน้าที่คณะกรรมการคอยช่วยเหลือ
มีการบรรเลงมโหรีขับกล่อมขณะนำน้ำมาล้างพระโอษฐ์ นำแปรงสีฟันมาแปรงพระทนต์ถวาย
หลังจากนั้น จะนำน้ำหอมทานาคามาเช็ดถูพระพักตร์ แล้วนำผ้าขาวหรือผ้าสะอาดมาเช็ดออกด้วยผ้าสะอาด
( ที่คณะศรัทธาสาธุชนที่เตรียมมาให้เช็ดและนำกลับไปไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล )
หลังจากพิธีล้างพระพักตร์แล้ว
จะนำภัตตาหารมาถวายให้พระมหามัยมุณีฉัน จึงเป็นอันเสร็จพิธี จะใช้เวลารวมทั้งสิ้น 1
ชั่วโมง เสร็จพิธีเวลาประมาณ 05.00 น.
องค์พระมหามัยมุนีมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั้งพระองค์
ซึ่งหากเอานิ้วกดลงไปก็จะรู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็น
หมื่น ๆ แสน ๆ ชั้น ตลอดระยะเวลาเนิ่นนานกว่าศตวรรษ
ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกพระนามหนึ่งว่า "พระพุทธรูปเนื้อนิ่ม"
แต่น่าพิศวงที่ว่า
แม้จะมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนองค์พระใหญ่ขึ้นเพียงใดก็ตาม
แต่พระพักตร์ขององค์พระมหามัยมุนีก็ยังแลดูใหญ่ตามองค์พระอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้ง ๆ
ที่ไม่ได้มีการปิดทองที่พระพักตร์เลย
เส้นทางแห่งศรัทธา