วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เปิดตำนานสักยันต์สายยาแดง

เปิดตำนานสักยันต์สายยาแดง   โดย  ทิพยจักร


เมื่อเดือนตุลาคม  2556 มีโอกาสไปกราบพระอาจารย์ภูไทย ปภกาโร วัดเขาแก้วชัยมงคล  อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ไปคราวนั้นท่านจัดพิธีไหว้ครูด้วย    พอมองไปที่มณฑลพิธีไหว้ครูของท่านก็ต้องแปลกใจเพราะครูของท่านที่นำมาตั้งเป็น พู่พู่อ่อง หรือโปโปอ่อง

ท่านผู้อ่านคง งงใช่ไหมครับว่า แล้วพู่พู่อ่องคือใคร ?
พู่พู่อ่องเป็นผู้วิเศษชาวมอญมีฤทธิ์มาก เรื่องราวของท่านที่เล่าขานกันมานั้น กล่าวว่าท่านมีวิชาปรอทสำเร็จ มีวิชาการทำประคำ การทำตัวยาสมุนไพรให้ผู้รับประทานนั้นเป็นอมตะไม่มีวันตาย คนพม่าคนมอญ รวมทั้งไทยใหญ่ กระเหรี่ยง และชาวล้านนาจะเล่าเรื่องพู่พู่อ่องสืบๆกันมาคล้ายกับหลวงปู่เทพโลกอุดรในบ้านเรานั่นแหละ

ท่านบรมครูพู่พู่อ่องเป็นผู้วิเศษมีฤทธิ์มาก ปัจจุบันก็ยังดำรงสังขารอยู่อายุยาวนานนับพันปีแต่ไม่แก่ไม่เฒ่า ร่างกายเป็นหนุ่มอยู่เสมอ ไปไหนมาไหนก็ล่องหนหายตัวหรือเหิรฟ้านภากาศไป ชั่วขณะจิตเดียวหรือลัดนิ้วมือเดียวก็ถึง ไปไหนมาไหนท่านจะแปลงร่างทำตนเป็นเด็กหนุ่ม หรือเป็นคนชรา หรือแกล้งทำเป็นคนพิการคนขอทานก็มีเพื่อลองใจผู้ที่พบเห็นว่าจะมีน้ำใจเช่นไร

พอเห็นพู่พู่อ่องอยู่บนมณฑลพิธี ซึ่งมีเครื่องครูประกอบด้วย กล้วย มะพร้าว น้ำเปล่าและเทียน นอกจากนี้ก็จะมีเข็มสักวางไว้ เห็นดังนั้นจึงลองถามท่านว่า   ”.....  พระอาจารย์ครับนั่นพู่พู่อ่องใช่ไหม ท่านนับถือด้วยหรือครับ “

พระอาจารย์ภูไทย ปภกาโร หันมายิ้มพร้อมกับตอบว่า “ใช่ที่เห็นคือพู่พู่อ่อง อาตมานับถือท่านเป็นครู”  พอฟังเท่านั้นก็ได้จังหวะเลยสัมภาษณ์ท่านว่าเป็นมาอย่างไรจึงนับถือพู่พู่อ่อง    พระอาจารย์ภูไทย เมตตาเล่าว่าสมัยก่อน ตนเองเคยเจ็บป่วยหาสาเหตุอันใดไม่ได้ ไปมากี่หมอก็ไม่รู้ว่าป่วยด้วยอะไร ชักเอะใจว่าจะเป็นเพราะโดนกระทำโดนของลมเพลมพัดก็พอดีมีเพื่อนชวนไปรักษากับอาจารย์หย่วน ลิ่งแสง เป็นชาวมอญอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ครูหย่วนหรืออาจารย์หย่วนท่านนี้ท่านเป็นศิษย์ในสายสักยันต์หมึกแดงหรือสักยันต์แดงตามตำรับพม่ามอญ วิชานี้เป็นวิชาเก่าแก่ของมอญ   ต่อมาพม่ารับมาจากมอญอีกทีหนึ่ง แล้วเผยแพร่อยู่ในราชสำนักของพม่า

วิชานี้มีอำนาจในการถอนคุณไสยล้างอาถรรพ์ทั้งปวง ดังนั้นผู้ที่สักยาแดงลงไว้ที่ตัวอำนาจของยันต์แดงจะถอดถอนล้างคุณไสยออกจากกายสังขารผู้นั้นจนหมดสิ้น  
พระอาจารย์ภูไทยเล่าต่ออีกว่า “ก็แปลกเหมือนกันเพราะตอนมาหาครูหย่วนยังเจ็บตามเนื้อตามตัวอยู่เลย แต่พอมาสักยาแดงเสร็จเรียบร้อยรู้สึกกายเบาความเจ็บปวดในกายที่เคยมีหายไปหมดและหายสนิทอีกด้วยไม่กลับมาเจ็บมาปวดอีกเลยเรื่องนี้ก็แปลกเหมือนกัน
“ วิชาการสักยาแดงนั้นมีด้วยกัน ๙ ขั้น ตอนที่ไปสักกับครูหย่วนท่านสักให้ทีเดียวครบ ๙ ขั้นในวันนั้น คนที่สักครบ ๙ ขั้นจะเรียกว่าสย่า หมายถึงครู คือครบ ๙ ขั้นแล้วก็เป็นครูได้เลย ต้องอาศัยความอดทน ผู้ที่รับการสักยาแดงไปแล้วพอสักเสร็จก็ถือว่ามีแรงครูหรือบารมีครูอยู่กับตัว    ครูที่ว่าก็ได้แก่ครูพู่พู่อ่องนี่เอง และนอกจากนี้ยังมีครูผู้วิเศษอีก ๙ องค์ รวมแล้วเท่ากับว่าผู้เป็นศิษย์สายยาแดงจะมีครูคุ้มหัวคุ้มเกล้าถึง ๑๐ องค์ และมีเทพธรรมบาลรักษาประจำตัวอีก โดยเทพธรรมบาลที่ประจำรักษาคือ พระแม่สุรัสวดี และท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ 
ส่วนบารมีครูที่ลงมาอยู่กับตัวนั้นจะมีอำนาจในการถอดถอนคุณไสย ไล่ผี ไล่ปีศาจจากตัวคนไข้ได้ ทำได้ทันทีขอให้มั่นใจครูอยู่กับตัวทันทีเมื่อสักยันต์แดงลงไว้กับตัว ดังนั้นผู้ที่ผ่านการสักยันต์พอสักเสร็จปุ๊ปจะสามารถถอนคุณไสยให้ผู้อื่นได้เลย ไม่ต้องมีพิธีรีตองแต่อย่างใด นี่คือความพิเศษของวิชาสายนี้ แต่ใช่ว่าวิชาสายนี้จะดีแค่ถอดถอนคุณไสย เพราะอำนาจจากสายยันต์ยาแดงนั้นแรงทุกอย่างทั้งเสน่ห์เมตตา ทำมาค้าขายดี คงกระพันแคล้วคลาด ทำมาหากินรุ่งเรือง เหล่านี้มีครบบในวิชาสายยันต์แดง แรงทุกอย่างแล้วแต่ว่าเราจะอธิษฐานกับครูท่าน ขอให้ศรัทธาเชื่อมั่นรับรองผลได้ว่าแรงทุกประการ

เรื่องวิชาสายยันต์ยาแดงนั้นโดยเฉพาะตำนานครูแต่ละท่าน ยิ่งเรื่องของพู่พู่อ่องนั้นเล่าภายในฉบับเดียวคงไม่จบ คงต้องติดตามในฉบับต่อๆไปเพราะเนื้อที่มีจำกัดจริง  ๆ  เรื่องนี้เร้นลับและมากด้วยปาฏิหาริย์ของให้ติดตามกันไปแล้วจะรู้ว่า
อีกหนึ่งศาสตร์โบราณที่ลึกลับพิสดารอย่างสายยันต์ยาแดงนั้น.....ไม่ธรรมดาจริง ๆ

หมายเหตุ    วัตถุมงคล สายยาแดง  ติดต่อสอบถามได้ที่  พระอาจารย์ภูไทย ปภากโร วัดเขาแก้ว ชัยมงคล  โทร 085-4000-101  และที่ สุริยันจันทรา  02-399-2000    /   089-0050-554  และที่เว็บไซต์ www.poothai.net    www.สุริยันจันทรา.com

เส้นทางแห่งศรัทธา ตอน พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า

เส้นทางแห่งศรัทธา
ตอน  พระมหามัยมุนี  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า

พระมหามัยมุนี  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า เปรียบได้กับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย และเป็นหนึ่งในห้าศาสนวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า

คำว่า มหามัยมุนี แปลว่า " ผู้รู้อันประเสริฐ "  ชาวพม่าจะเรียกว่า มหาเมียะมุนี   เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อดีตราชธานีของพม่าในยุคราชวงศ์คองบอง เดิมทีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่ มีตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์ สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว หนัก 6.5 ตัน ก่อนสร้าง กษัตริย์ผู้สร้างทรงพระสุบินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้ เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องสืบพระศาสนาไปในภายหน้า โดยในอดีต แม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์เมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพอย่างไร ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีนี้ออกจากเมืองได้ ต้องมีเหตุให้ขัดข้องทุกครั้งไป

ตำนานการสร้างพระมหามัยมุนี  กล่าวไว้ว่า..ในสมัยพระพุทธกาลที่เมืองยะไข่ ( หรืออาระคัน  ) มีพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่า พระเจ้าจันทรสุริยา ได้ยินเรื่องราวของพระพุทธเจ้าออกเทศนาโปรดผู้คนในประเทศอินเดีย พระองค์ประสงค์อยากกราบไหว้และได้ฟังเทศนาจากพระพุทธเจ้าบ้าง จึงได้อธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาทางเมืองยะไข่
พระพุทธเจ้าได้ทราบถึงความปรารถนาของพระเจ้าจันทรสุริยา จึงได้เสด็จมาพร้อมสาวกอีก 500 รูป พระเจ้าจันทรสุริยาได้จัดที่ในวังถวายให้พระพุทธเจ้าประทับ เมื่อครบ ๗ วัน ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ พระเจ้าจันทรสุริยาได้ขออนุญาตหล่อรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าไว้กราบไหว้บูชา จึงให้ช่างหล่อให้เสร็จในวันเดียว ปรากฏว่าส่วนอื่นของพระพุทธรูปหล่อเสร็จสมบูรณ์หมด ยกเว้นที่พระนลาฏ หล่ออย่างไรก็ไม่ติด พระพุทธเจ้าเสด็จมาทอดพระเนตร จึงถูไคลจากพระอุระปั้นเป็นก้อนปิดลงไปที่พระนลาฏ จึงหล่อได้สำเร็จ
...แต่มีอีกตำนานเล่าว่า..พระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจใส่ลงไปในพระพุทธรูปองค์นี้ จึงหล่อได้สำเร็จและหายใจได้ ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้ลุกขึ้นมาไหว้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสให้นั่งลงและให้เป็นพระพุทธรูปให้คนยะไข่กราบไหว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบองสามารถตียะไข่ได้   จากนั้นได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่ได้ ในปี พ.ศ. 2327  โดยล่องมาตามแม่น้ำอิระวดีมายังเมืองมัณฑเลย์ได้สำเร็จ พระมหามัยมุนีจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ด้วยความเชื่อความศรัทธาว่า พระพุทธมหามัยมุนี นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิตมีลมหายใจ   จึงมีประเพณีล้างพระพักตร์ถวาย

        ทุกๆ เช้าตั้งแต่เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป จะมีการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี โดยพระเจ้าอาวาสแห่งวัดมหามัยมุนีเป็นผู้ทำพิธีและเจ้าหน้าที่คณะกรรมการคอยช่วยเหลือ มีการบรรเลงมโหรีขับกล่อมขณะนำน้ำมาล้างพระโอษฐ์ นำแปรงสีฟันมาแปรงพระทนต์ถวาย หลังจากนั้น จะนำน้ำหอมทานาคามาเช็ดถูพระพักตร์ แล้วนำผ้าขาวหรือผ้าสะอาดมาเช็ดออกด้วยผ้าสะอาด ( ที่คณะศรัทธาสาธุชนที่เตรียมมาให้เช็ดและนำกลับไปไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล )

หลังจากพิธีล้างพระพักตร์แล้ว จะนำภัตตาหารมาถวายให้พระมหามัยมุณีฉัน จึงเป็นอันเสร็จพิธี จะใช้เวลารวมทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง เสร็จพิธีเวลาประมาณ  05.00 น.


องค์พระมหามัยมุนีมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั้งพระองค์ ซึ่งหากเอานิ้วกดลงไปก็จะรู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็น หมื่น ๆ แสน ๆ ชั้น ตลอดระยะเวลาเนิ่นนานกว่าศตวรรษ ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกพระนามหนึ่งว่า "พระพุทธรูปเนื้อนิ่ม"


แต่น่าพิศวงที่ว่า แม้จะมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนองค์พระใหญ่ขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่พระพักตร์ขององค์พระมหามัยมุนีก็ยังแลดูใหญ่ตามองค์พระอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการปิดทองที่พระพักตร์เลย



เส้นทางแห่งศรัทธา

เส้นทางแห่งศรัทธา ตอน มัณฑะเลย์

 เส้นทางแห่งศรัทธา     

แผ่นดินพม่า :  มัณฑะเลย์    

                       เมืองมัณฑะเลย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี เป็นอดีตราชธานีที่สำคัญของพม่า  สร้างโดยพระเจ้ามินดง เมื่อปี พ.ศ. 2400 จนกระทั้งพม่าได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2428 ทำให้เมืองแห่งนี้ลดความสำคัญลงไป 

                                                     

          ปัจจุบัน เมืองมัณฑะเลย์ได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญเมืองหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศพม่า  โดยมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ  และมีความสำคัญทั้งในแง่ของศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว 
                   พระเจ้ามินดงทรงสร้างเมืองมัณฑะเลย์เป็นราชธานี นามนี้ได้มาจากชื่อเขาซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมือง  เขานี้ได้เป็นที่เชื่อถือว่าเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล    

         บางตำนานกล่าวว่า พระพุทธองค์และพระอานนท์ได้เสด็จมาประทับที่นี่  พระพุทธองค์ได้ประทานพุทธทำนายไว้ว่า.......เมื่อพระพุทธศาสนาครบ 2,500 ปี จักเกิดเป็นเมืองใหญ่เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาขึ้นที่เชิงเขาแห่งนี้ 
พระเจ้ามินดงจึงมีพระราชศรัทธาส่งเสริมให้พุทธทำนายเกิดเป็นความจริงขี้นมา โดยทรงย้ายราชธานีจากเมืองอมรปุระมายังเมืองมัณฑะเลย์  
        มัณฑะเลย์เป็นราชธานีอยู่เพียง 28 ปี อังกฤษเข้าตีมัณฑะเลย์แตกในปี 2367 โอรสของพระเจ้ามินดง พระเจ้าสีป้อจึงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย พระเจ้าสีป้อถูกส่งไปอินเดียโดยไม่ได้กลับพม่าอีกเลย 


รอยอดีตที่มัณฑะเลย์ :  พระราชวังมัณฑะเลย์  
               พระราชวังมัณฑะเลย์เป็นพระราชวังหลวงของพระเจ้ามิงดง สร้างขึ้นตามผังภูมิจักรวาลแบบพราหมณ์ปนพุทธ โดยสมมุติให้เป็นศูนย์กลางของโลก (ประดุจดังเขาพระสุเมรุ) แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ทิศ แต่ละทิศมีประตูทางเข้า 3 ประตู รวมทั้งสิ้น 12 ประตู ที่ประตูทำสัญลักษณ์จักรราศีประดับเอาไว้ 

                                                

           ใจกลางพระราชวังมัณฑะเลย์เป็นห้องพระมหาปราสาท  ยอดปราสาทหุ้มด้วยแผ่นทองซ้อนกัน เจ็ดชั้นสูง 78 เมตร เชื่อกันว่า ความเป็นไปในจักรวาลจะลอดผ่านยอดปราสาทตรงลงมาสู่พระแท่นราชบัลลังก์ ช่วยให้กษัตริย์ตัดสินพระทัยในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
                                                 

           พระราชวังมัณฑะเลย์ ส่วนใหญ่ก่อสร้างด้วยไม้สักที่สวยงาม ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 20 มีนาคม 2488 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโดยกองทัพอังกฤษ ได้ทิ้งระเบิดถล่มพระราชวังมัณฑะเลย์ของพม่า ด้วยเหตุผลว่าพระราชวังนี้เป็นแหล่งกำลังของกองทัพญี่ปุ่น พระราชวังมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นพระราชวังไม้สักก็ถูกไฟไหม้เผาราบหลงเหลือก็แต่ป้อมปราการและคูน้ำรอบพระราชวัง

                ปัจจุปัน พระราชวังที่เห็นอยู่เป็นพระราชวังที่รัฐบาลพม่าได้จำลองรูปแบบของพระราชวังของเก่าขึ้นมา  



เส้นทางแห่งศรัทธา ตอน ทะเลเจดีย์ที่พุกาม

เส้นทางแห่งศรัทธา   

ตอน    ทะเลเจดีย์ที่พุกาม
               ศรัทธาตามความหมายที่ใช้ในพจนานุกรม หมายถึง "ความเชื่อถือ, ความเลื่อมใส" คำว่า “ศรัทธา” นี้ราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติมาจากคำว่า” faith และอธิบายว่า หมายถึง "ความเชื่อ ความเลื่อมใส
               ศรัทธา แม้จะเป็นนามธรรม  แต่เป็นสิ่งที่มี”พลัง”อย่างหาที่สุดมิได้  อารยธรรมที่เกิดบนโลกนี้ ล้วนได้รับแรงส่งจาก “พลังศรัทธา” ทั้งสิ้น  แม้สิ่งมหัศจรรย์ของโลก อาทิ นครวัด  มหาพีระมิดแห่งกีซา ฯลฯ ก็มาจากพลังศรัทธาของผู้สร้าง
เส้นทางแห่งศรัทธา  ที่ทอดยาวมาแต่อดีตสูปัจจบัน ได้จารึกตำนานแห่งมนุษยชาติที่ผูกพันกับความเชื่อ ความเลื่อมใส  แม้ในยุคดิจิตอล ยุคข้อมูลข่าวสาร “ศรัทธา”  ยังคงยืนหยัดยืนยงผ่านกาลเวลามาได้
ดังที่เห็นรูปปรากฏร่างสะท้อนความเชื่อ ความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนแห่งอุษาคเนย์ที่ได้รังสรรค์ทะเลเจดีย์ที่พุกาม  ( Bagan )  ประเทศพม่า

พุกาม เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณแห่งแรกในประวัติศาสตร์พม่า ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 1587 ถึง พ.ศ. 1830
พุกาม ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตมัณฑะเลย์ อยู่ห่างประมาณ 90 ไมล์ หรือ 145 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมัณฑะเลย์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตเมืองเก่า (เขตที่ตั้งอาณาจักรพุกาม) เขตเมืองใหม่ (เขตที่อยู่อาศัยปัจจุบัน) และยองอู (เขตพาณิชยกรรมและเศรษฐกิจ) มีสนามบินชื่อ สนามบินยองอู เป็นสนามบินประจำเมือง รายได้หลักของเมืองคือ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือนที่นี่

การเดินทางไปเยือนพุกามปัจจุบันสะดวกสบายพอสมควร  จากกรุงเทพฯ  ประเทศไทย  นั่งเครื่องบินไปลงที่มํณฑะเลย์  แล้วต่อเครื่องบินไปพุกามโดยสายการบินภายในประเทศจะสะดวกที่สุด  

ส่วนทางรถยนต์  ทางเรือจากมัณฑะเลย์ก็มีบริการสำหรับชาวบ้านและนักทัศนาจรประเภทชอบผจญภัย ชอบประหยัดหรือแบคแพคเกอร์ที่อึด ๆ สามารถใช้เส้นทางบกและทางเรือก็จะได้รสชาติไปอีกแบบ
พุกามได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์ หรือ ดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์ เพราะในสมัยรุ่งเรืองเคยมีเจดีย์มากมายถึง 4,446 องค์ ปัจจุบันเหลือ 2,217 องค์ เจดีย์แห่งแรกของพุกามคือ

พระมหาธาตุเจดีย์ชเวซีโกน (  Shwezigon Pagoda  ) เป็นเจดีย์ใหญ่ สวยงาม ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพม่า เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวพม่าและชาวพุทธ  ถือเป็น 1 ใน 5 ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพม่า
 ชื่อ "ชเวซีโกน" มีหมายความว่า "เจดีย์ทองแห่งชัยชนะ" (ชเว แปลว่า ทอง) สร้างโดย พระเจ้าอโนรธามังช่อ แต่แล้วเสร็จในรัชกาลพระเจ้าจานสิตาแห่งอาณาจักรพุกาม

 ภายในเจดีย์เชื่อว่าบรรจุพระเขี้ยวแก้วและพระสารีริกธาตุ โดยอัญเชิญมาจากศรีลังกา ตามตำนานกล่าวว่าการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วและพระสารีริกธาตุมานั้นประดิษฐานบนหลังช้างเผือก พระเจ้าอโนรธามังช่อทรงตั้งพระทัยอธิษฐานว่า.....ถ้าช้างเผือกคุกเข่าลงที่ใด จะสร้างพระมหาเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วและพระสารีริกธาตุ ไว้ที่นั่น
เจดีย์ชเวซีโกนได้รับบูรณะในสมัยต่อมาอีกหลายครั้ง เจดีย์ชเวซีโกนเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำพื้นผิวภายนอกถูกปิดด้วยทองคำเปลว มีความสูงราว 53 เมตร มีลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรอยู่ 3 แถว และมีเจดีย์เล็ก ๆ เป็นบริวารอยู่รายรอบ

ผู้นำทาง หรือไกด์ท้องถิ่นชาวพม่า แต่พูดไทยได้คล่อปร๋อ สาธยายความอัศจรรย์ 9 ประการของพระมหาธาตุชเวซีโกน แห่งพุกาม ให้ฟังดังนี้
1.ยอดพระเจดีย์ไม่มีการใช้เหล็กเสริม
2.กระดาษห่อแผ่นทองคำเปลวที่นำไปปิดส่วนยอดพระเจดีย์ จะไม่ปลิวพ้นฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์
3.เงาพระเจดีย์จะไม่ล้ำออกนอกฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์ (ถ้าเงาล้ำออกไป ถือว่าเป็นลางร้าย)
4.ภายในเขตองค์พระเจดีย์ สามารถรองรับผู้แสวงบุญได้ไม่จำกัดจำนวน (ไม่เคยเต็ม)
5.มีการให้ทานด้วยข้าวสุกร้อน ๆ ทุกเช้า (ไม่ว่าเราจะตื่นเช้าสักเพียงใด จะพบข้าวสุกในบาตรอยู่ก่อนหน้าเราเสมอ)
6.เมื่อตีกลองใบใหญ่จากด้านหนึ่งของพระเจดีย์ จะไม่สามารถได้ยินเสียงกลองจากด้านตรงข้าม
7.แม้พระเจดีย์จะตั้งอยู่บนพื่นราบ แต่เมื่อมองจากภายนอก จะเกิดภาพลวงตาคล้ายพระเจดีย์ตั้งอยู่บนที่สูง
8.ไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใด จะไม่มีน้ำฝนขังอยู่ในอาณาเขตขององค์พระเจดีย์
9.มีต้นพิกุล ในบริเวณนี้จะออกดอกตลอดทั้งปี (ปกติจะออกปีละครั้ง)

               นี่เป็นเพียง 1 ในทะเลเจดีย์ที่พุกาม ยังอลังการงานสร้างขนาดนี้