วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

พนมกุเลน มเหนทรบรรพต


เส้นทางแห่งศรัทธา   
พนมกุเลน มเหนทรบรรพต

พนมกุเลน เป็นหนึ่งในยอดเขาที่สำคัญในประเทศกัมพูชาเชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร
 พนมกุเลนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเทพเจ้าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 14 หรือในราวปีพ.ศ.1345ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ศิลปะแบบกุเลน ในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายซึ่งนับถือพระศิวะมหาเทพ
 สำหรับคำว่า พนมในภาษากัมพูชาหมายถึงภูเขาและคำว่า กุเลนหมายถึงต้นลิ้นจี่ชื่อนี้คงได้มาจากในอดีตที่ผ่านมาบนเขาพนมกุเลนแห่งนี้อุดมไปด้วยต้นลิ้นจี่ป่า

พนมกุเลนหรือมเหนทรบรรพต เป็นเทือกเขาสูงทอดตัวยาว 37กิ โลเมตรความสูง 800 เมตร พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ทรงสถาปนาพนมกุเลนเป็นศูนย์กลางเมืองหลวงแห่งนี้ขึ้นมาพร้อมๆ กับที่พระองค์ได้ทรงสถาปนาลัทธิเทวราชาขึ้น หลังจากกอบกู้เอกราชจากการปกครองของศรีวิชัยจากชวา  ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นที่พนมกุเลนโดยเชิญพราหมณ์ ศิวะไกรวัลย์จากเมืองกัมปงจามมาเป็นผู้ประกอบพิธี   แม้ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บอกว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงประทับอยู่บนเขาพนมกุเลนระยะเวลานานเท่าใด แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อกันว่าคงไม่นานนักเพราะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงเท่าใดนัก ในที่สุดพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ก็ทรงเสด็จกลับมาครองราชย์ที่เมืองหริหราลัยตามเดิม จากนั้นก็ทรงประทับอยู่ที่เมืองหริหราลัยจนถึงวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.1393 ภายหลังการเสด็จสวรรคตแล้ว ทรงได้รับถวายพระนามว่า  ปรเมศวรหลังจากนั้นก็ไม่มีกษัตริย์ขอมองค์ใดย้ายเมืองหลวงมาบนเขาพนมกุเลนอีก

 
ร่องรอยอดีตของพนมกุเลนจึงพบว่ามีปราสาทหลังเล็ก ๆ หลายแห่งแต่มีสภาพทรุดโทรม   แต่ที่น่าสนใจคือศิวลึงค์แกะสลักอยู่ใต้น้ำนับพันองค์และภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ตลอดความยาว 400 เมตรในลำธารบนเขาพนมกุเลนแห่งนี้
ในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย บูชาศิวลึงค์ว่าเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งมวล ศิวลึงค์ใช้แทนองค์พระศิวะเทพ และฐานโยนีที่ล้อมรอบศิวลึงค์ หมายถึงพระนางอุมาเทวีชายาของพระศิวะ  ศาสนาฮินดูเชื่อกันว่าตราบใดที่ศิวลึงค์และโยนีทั้งสองอย่างนี้ถ้ายังอยู่ด้วยกัน ตราบนั้นโลกจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง
 
ปกติสำหรับการบูชาศิวลึงค์นั้น พราหมณ์จะเป็นผู้นำน้ำมารดบนศิวลึงค์และน้ำที่รดนั้นจะไหลออกไปที่ช่องโยนี ลงไปยังโสมสูตรเพื่อให้ผู้คนที่มารองรับน้ำนี้ไปตามความเชื่อที่ว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถรักษาโรคภัยได้และเป็นสิริมงคล  แต่ทว่าการประกอบพิธีด้วยการทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ กระทำไม่บ่อยนัก เมื่อกระทำพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ปริมาณน้ำที่ไม่มากนักในขณะที่ชาวเมืองต่างพากันมารองรับน้ำกันมากมาย พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จึงทรงเกิดความคิดทำให้แม่น้ำเสียมเรียบกลายเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เสมือนแม่น้ำคงคา พระองค์จึงโปรดให้สร้างศิวลึงค์อยู่ใต้น้ำบนธารน้ำบนเขาพนมกุเลนซึ่งเป็นต้นแม่น้ำเสียมเรียบ เมื่อน้ำไหลผ่านรูปแกะสลักศิวลึงค์ใต้น้ำ จึงถือว่าน้ำที่ผ่านศิวลึงค์บนพนมกุเลนจะกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลไปตามนาวาวิถีแม่น้ำเสียมเรียบสู่ชาวบ้านชาวเมืองเรือกสวนไร่นาเพื่อความอุดมสมบูรณ์

               จำนวนศิวลึงค์ที่อยู่ใต้น้ำหนึ่งพันองค์ก็เป็นความเชื่อตามคติโบราณแทนฤาษีหนึ่งพันตน นอกจากศิวลึงค์แล้วพนมกุเลนยังมีรูปพระนารายณ์ ในปางนารายณ์บรรทมสินธุ์  และพระพรหมแกะสลักอยู่ด้วยจึงถือว่า....
พนมกุเลน มเหนทรบรรพต”มีครบสามมหาเทพ...ตรีมูรติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น